รรท.อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม เผยมีข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ยื่นเรื่องเสนอต่ออธิบดี จำนวน 45 ราย
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 10.30 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แถลงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย โดยไม่ได้รับความเป็นธรรมของบุคลากรกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมี นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดี นายนายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายอนันต์ ปิ่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
รรท.ออส. เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยให้ทำหนังสือเสนอต่ออธิบดี ปรากฏว่า มีผู้เสนอหนังสือขอความเป็นธรรมจำนวนทั้งสิ้น 45 ราย ทั้งนี้ การโยกย้ายตำแหน่งต่าง ๆ จะพิจารณาจากตัวบุคคล ประสิทธิภาพการทำงาน ความซื่อสัตย์สุจริต และจะพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ เพื่อคัดสรรผู้ที่มีคุณสมบัติ โดยคำสั่งจะมีการทยอยออกทุกสัปดาห์ มีการพิจารณากลั่นกรองเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน รวมทั้งจะมีคำสั่งปรับหัวหน้าหน่วยงานโครงการในพื้นที่โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน จะมีการตั้งคณะกรรมการในการประเมินการปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยมีรองอธิบดีที่กำกับดูแล เป็นกรรมการพิจารณาและมีการประเมินผล และปรับการทำงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีคำสั่งการบริหารเชิงพื้นที่ให้แต่ละพื้นที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารงาน แบบ single command ให้หัวหน้าพื้นที่เป็น CEO ในพื้นที่ โดยให้ควบคุม กำกับ แผนงบประมาณ ในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ระดมสรรพกำลัง ใช้กลไกให้ทุกหน่วยงานทำงานร่วมกัน หน่วยงานภาคสนามทุกหน่วย จะต้องใช้งบประมาณครบถ้วนคุ้มค่า และทำเท่าที่จำเป็น หากโครงการใดไม่มีประโยชน์ให้ปรับแผน เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณ โดยได้เน้นย้ำให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 มีการออกปฏิบัติงานภาคสนามมากยิ่งขึ้น ให้ตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ด้วย
ด้านการแก้ไขปัญหาไฟป่า จากสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้น จำเป็นต้องมีการเตรียมทำการชิงเผาทำแนวเขตกั้นไฟอาจจะมีประชาชนไม่เข้าใจในเรื่องของการทำชิงเผา การชิงเผาจะทำเมื่อมีฤดูกาลไฟเท่านั้น และจะทำในพื้นที่จำเป็น จำกัด ตามหลักวิชาการ เพื่อลดไม่ให้สถานการณ์ไฟรุนแรง โดยระหว่างทำจะมีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนในจุดนั้น ๆ นอกจากนี้จะมีการตั้ง War Room พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เชื่อมต่อกับ War Room จังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้รู้ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ในการประเมินสถานการณ์ของการทำงานตามสภาพอากาศซึ่งใน War Room นี้จะมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน
สำหรับการแก้ไขปัญหาช้างป่า รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นกรรมการและเลขานุการ มีการตั้งอนุกรรมการช้างป่า อนุกรรมการช้างบ้าน และคณะทำงานด้านการช่วยเหลือเยียวยา กรมอุทยานฯ ได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่า ให้ทุกพื้นที่มีการบริหารการจัดการพื้นที่ โดยนำโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ เป็นต้นแบบ ทั้งการปรับปรุงแหล่งน้ำ อาหาร ทุ่งหญ้า ตามหลักวิชาการ นอกจากนี้จะมีการจ้างผู้ปฏิบัติงานเพื่อเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าโดยตรง รวมถึง สนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อจัดตั้งชุดปฏิบัติการไล่ช้าง ทั้ง 16 พื้นที่กลุ่มป่า และจะมีการจัดทำพื้นที่พิเศษควบคุมพฤติกรรมช้างป่า การควบคุมประชากรช้างป่าโดยการคุมกำเนิด ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบันโดยกรมจะเร่งผลักดันกองทุนช้างป่าและของบกลางมาช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาช้างป่า
อีกเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญ คือการจัดการที่ดินทำกินของประชาชน กำลังเร่งรัดให้เป็นไปตาม ตามมาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และ มาตรา 121 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จะแบ่งแปลงพื้นที่ พื้นที่ตรงไหนต้องกันออก พื้นที่ตรงไหนเป็นส่วนกลาง ตรงไหนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตรงไหนเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มคาร์บอนเครดิต การดูดซับคาร์บอนเครดิตจะให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือได้ก็จะเร่งดำเนินการ กระบวนเหล่านี้ต้องทำร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการรับรองแนวเขตตามเขตการปกครอง และจะรีบออกมาเป็นกฎหมายให้เร็วที่สุด เพราะยังมีภารกิจที่ต้องไปพัฒนาให้กับประชาชนอีก เช่น ถนน ความจำเป็นพื้นฐาน แหล่งน้ำ ระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการควบคุมไม่ให้ขยายไปในพื้นที่ป่าที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้วย และให้เป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืน
นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จะมีการพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสมกับพื้นที่อนุรักษ์นั้น ๆ ประกอบกับปัจจุบันเป็นช่วงฤดูไฟป่า การปรับเปลี่ยนหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์และหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามอื่น ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานได้ ล่าสุดได้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม มายื่นหนังสือแล้วจำนวน 45 คน โดยแบ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขา จำนวน 2 ราย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ จำนวน 19 ราย ผู้อำนวยการส่วน จำนวน 9 ราย และหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามอื่น ๆ จำนวน 12 ราย และได้ยื่นเรื่องเข้ามาอีก จำนวน 3 ราย
โดยกรมอุทยานฯ จะเปิดให้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ถึงวันที่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่อนุรักษ์แต่ละพื้นที่จะมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน การแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เหมาะสมกับพื้นที่อนุรักษ์นั้น ๆ ประกอบกับปัจจุบันเป็นช่วงฤดูไฟป่า การปรับเปลี่ยนหัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์และหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามอื่น ๆ อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานได้ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายได้พิจารณาร่วมกัน และมีมติให้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามในคำสั่งโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการหลายตำแหน่ง ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
กรณีเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการแต่งตั้งโยกย้าย จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1.นายทัศเนศวร์ เพชรคง เดิมผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง ๒.นายประยูร พงศ์พันธ์ เดิม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สาขาปัตตานี เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ๓. นายพสวัตน์ โชติวัตพงษ์ชัย เดิม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองแก้ว และ ๔. สิบตำรวจโท กุลบล พลวัน เดิม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสก ส่วนกรณีเป็นผู้มีรายชื่อปรากฏบนซอง จำนวน 2 ราย คือ
นายอัมพร ทองมี เดิม ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ เป็นหัวหน้าศูนย์โครงการหลวงด้านป่าไม้ จังหวัดเชียงใหม่-เชียงราย-พะเยา (คงเหลือหน้าที่เดียว) และนายสักรินทร์ ปัญญาใจ เดิม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง เป็นผู้อำนวยการผู้อำนวยการส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) อย่างไรก็ตามมีการแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานภายในกรม จำนวน 6 รายอีกด้วย