พิจิตร-ชาวนาลุ่มน้ำยมครวญจังหวัดพิจิตรใช้งบ15ล้านสร้างแพสูบน้ำทิ้งร้างเกือบ2ปียังใช้การไม่ได้

พิจิตร-ชาวนาลุ่มน้ำยมครวญจังหวัดพิจิตรใช้งบ15ล้านสร้างแพสูบน้ำทิ้งร้างเกือบ2ปียังใช้การไม่ได้

เมืองชาละวันทำโครงการสร้างแพสูบน้ำจากแม่น้ำยมใช้งบ15ล้าน วัตถุประสงค์ช่วยเหลือเกษตรกรนาข้าว 2 พันไร่ ฝั่งขวาแม่น้ำยม โดยให้ชลประทานพิจิตรออกแบบควบคุมงานจ้างผู้รับเหมาดำเนินการงานเสร็จเบิกเงินเกือบ 2 ปีแล้วติดปัญหาการกรมธนารักษ์ ว่าด้วยเรื่องโอนพัสดุหรือถ่ายโอนให้กับ อปท. สรุปหาเจ้าภาพไม่ได้สัญญาค้ำประกันใกล้หมดอายุแล้ว ชาวนาครวญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งทำให้ใช้การได้เพราะทุกบาททุกสตางค์ล้วนมาจากเงินภาษีของประชาชน ล่าสุด ป.ป.ช.พิจิตร เต้นเตรียมลงพื้นที่ค้นหาความจริง

วันที่ 29 เมษายน 2566 นายสังเวียน อินรันต์ อายุ 57 ปี รองนายก อบต.รังนก อยู่บ้านเลขที่ 12/ 3 หมู่ 12 บ้านย่านยาว ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร และเป็นเกษตรกรทำนา 20 ไร่ และ นายณรงค์ สิงหฬ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 บ้านย่านยาว ต.รังนก พร้อมด้วยแกนนำชาวนาของตำบลรังนกร่วมกันร้องทุกข์กับผู้สื่อข่าวว่าที่เห็นในภาพนี้ คือ แพสูบน้ำตามโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านย่านยาว ซึ่งตั้งอยู่ในแม่น้ำยมหมู่ 12 ต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร ที่ดำเนินการก่อสร้างโดยงบประมาณของจังหวัดพิจิตร วงเงิน 15 ล้านบาท ดำเนินการว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างในปีงบประมาณ 2564 ระยะเวลาตามสัญญาก่อสร้าง 180 วัน สร้างแล้วเสร็จเดือน กันยายน 2564

โดยมีโครงการชลประทานพิจิตรเป็นผู้แบบ , ควบคุมงานก่อสร้าง , ตรวจรับงาน ให้กับจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของงบประมาณและโครงการ แพสูบน้ำดังกล่าวประกอบไปด้วย แพสูบน้ำ , ระบบไฟฟ้า , การเดินท่อส่งน้ำซึ่งอยู่ใต้ดินระยะทาง 3,400 เมตร, อาคารอีก 1 หลัง ซึ่งตอนที่จะก่อสร้างก็มีการทำประชาคมให้ชาวบ้านยอมสละที่ดินเพื่อดำเนินการตามโครงการดังกล่าว เพราะหวังว่าเมื่อแล้วเสร็จแพสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าจะช่วยนาข้าวได้ถึง 2 พันไร่ ให้สามารถทำนาได้เพื่อหนีน้ำท่วม เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก

แต่ก็ปรากฎว่าโครงการนี้แล้วเสร็จมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 จากวันนั้นจนถึงวันนี้แพสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้ายังไม่สามารถใช้งานได้เลยแม้แต่ครั้งเดียวสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะเวลาที่ผ่านผู้ว่าฯพิจิตร มาแล้ว 2 คน ก็ยังไม่มีคำตอบจึงได้มาร้องทุกข์ผ่านผู้สื่อข่าวเพื่อหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ยินเสียงความทุกข์ความเดือดร้อนของชาวนาลุ่มน้ำยมพื้นที่ ต.รังนก ดังกล่าว

ในส่วนของ นายศิริวิทย์ แพงพฤกษ์ภูมิ วิศวกรชลประทานปฏิบัติการโครงการชลประทานพิจิตร ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่สัมผัสกับโครงการดังกล่าว ให้ข้อมูลว่าไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพวัสดุอุปกรณ์ หรือ การก่อสร้างเพราะควบคุมจนได้มาตรฐานทุกขั้นตอนแต่ที่แพสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าแห่งนี้ยังไม่สามารถถ่ายโอนให้กับ อบต.รังนก เพื่อบริหารจัดการและช่วยจ่ายค่าไฟให้กับกลุ่มเกษตรกรได้นั้น

เกิดจากเรื่องการโอนสินทรัพย์ การโอนพัสดุ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.)รวมถึงกรมธนารักษ์ว่าด้วยระเบียบต่างๆเท่านั้นเอง หากได้มีการดำเนินการด้านเอกสารแพสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าแห่งนี้ก็จะสามารถสตาร์ทเครื่องสูบน้ำส่งน้ำช่วยชาวนาได้ทันที แต่ที่ผ่านมาติดขัดด้วยข้อกฎหมาย-ระเบียบอย่างไรตนเองในฐานะวิศวกร หรือ ช่างคุมงาน ไม่สามารถจะตอบได้

ล่าสุดเรื่องดังกล่าว นายวราพงษ์ อินต๊ะโมงค์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิจิตร รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วถึงแม้จะไม่ได้เกิดจากการทุจริต แต่เมื่อเกิดปัญหาเกษตรกรเดือดร้อนงานนี้ ป.ป.ช.พิจิตร จะขอเป็นเจ้าภาพเชื่อมโยงข้อมูลกฎหมายและระเบียบ ว่า จะสามารถมีทางออกอย่างไรเพื่อให้แพสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าที่สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชนใช้งานได้ตามเจตนาของโครงการ โดยวันจันทร์ที่ 1 พ.ค. 66 ป.ป.ช.พิจิตร จะลงพื้นที่และเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมถกเพื่อหาทางออกให้ได้ต่อไป

 

สิทธิพจน์ พิจิตร

Related posts