กตป. สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ ม.สงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดการประชุมระดมคลังสมอง (Think tank)
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ณ โรงแรม ทีเค. พาเลช & คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี นางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานเปิดการประชุม ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการจัดประชุมคณะที่ปรึกษาโครงการ โครงการจ้างที่ปรึกษาติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2567 ดำเนินการตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมซึ่งกำหนดให้มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและบริหารงานของ กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เป็นประจำทุกปี โดยในปี 2567 กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้กำหนดนโยบายที่สำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล 2 เรื่อง 1) การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะภายหลังการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานช์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB) เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ 2) การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โครงการจ้างที่ปรึกษาติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญ ในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประจำปี 2567 มีระยะเวลาดำเนินงานทั้งสิ้น 210 วัน โดยมีแผนการดำเนินงาน เริ่มด้วยการเตรียมการ และการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1) การรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่ศึกษาโดยวิธีการทางเอกสาร จำนวน 2 เรื่อง และ 2) การเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อประกอบการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 2 เรื่อง ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้ 1) วางแผนเพื่อสำรวจข้อมูลข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ตามหลักวิชาการและระเบียบวิธีวิจัยอย่างเหมาะสม 2) การจัดประชุมระดมคลังสมอง (Think Tank) กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ผู้บริหารหรือผู้แทน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา 3) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) กลุ่มตัวอย่าง ใน 2 เรื่องที่ศึกษา 4) การจัดการประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group) เพื่อการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล 5) การจัดประชุมสนทนากลุ่มย่อย (Interview Group) ทั้ง 2 เรื่องที่ศึกษา 6) จัดการประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public hearing) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 4 ครั้ง ณ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี และ 7) การจัดทำแบบสอบถาม (Questionnaire) ตามระเบียบวิธีวิจัย โดยการออกแบบเครื่องมือ และสำรวจข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในทุกภูมิภาค และจบด้วยการวิเคราะห์และสรุปผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล หลังจากนั้นจะมีการจัดทำสรุปผลการศึกษาเพื่อเผยแพร่ (Pocket Book) รวมถึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผลการศึกษา จำนวน 2 เรื่อง และจัดแถลงข่าวต่อไป
ภาพ/ข่าว วะจะนะชัย วาจาพารวย/รายงาน